วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ ๓


แผนการจัดการเรียนรู้ที่ ๓

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย                                                                           ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑

หน่วย นิราศภูเขาทอง

เรื่อง สรรคำหลากลักษณะ : คำประสม                                                             เวลา    ชั่วโมง

 

มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด

             มาตรฐาน ท ๔.๑ เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ

             ตัวชี้วัด ท ๔.๑ ม. ๑/๒ สร้างคำในภาษาไทย

สาระสำคัญ

          คำประสมเกิดจากการนำคำมูลที่มีความหมายต่างกันตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมารวมกัน แล้วเกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ หรือยังคงมีเค้าความหมายของคำเดิม การสร้างคำประสมทำให้ภาษาไทย มีคำใช้เพิ่มมากขึ้น                                               

จุดประสงค์การเรียนรู้

          ๑. อธิบายลักษณะ ประเภท และความหมายของคำประสม

          ๒. สร้างคำประสม

    ๓.เห็นความสำคัญของการสร้างคำในภาษาไทยที่ทำให้มีคำใช้เพิ่มมากขึ้น                                          

สาระการเรียนรู้

         ๑. คำประสม

กิจกรรมการเรียนรู้

         ๑. ให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเรื่องการสร้างคำในภาษาไทย ว่าสร้างขึ้นได้อย่างไร

         ๒. ให้นักเรียนอ่านคำจากบัตรคำ เช่น

                       ๑) มือถือ                        ๒) หัวใจ                               ๓) กันชน                 ๔) รถไฟฟ้า

                       ๕) เปรี้ยวปาก               ๖) ตีบทแตก                         ๗) แก้ตัว

         ๓. ให้นักเรียนช่วยกันอธิบายความหมายของคำแต่ละคำ จากนั้นลองสังเกตความหมายของแต่ละพยางค์เพื่อเปรียบเทียบกับความหมายของคำว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

         ๔. ให้นักเรียนศึกษาความรู้เรื่อง การสร้างคำในภาษาไทย และการประกอบคำประเภทคำประสม    แล้วร่วมกันสนทนาในประเด็นต่อไปนี้

                        -      คำประสมมีลักษณะอย่างไร

                        -      คำประสมมีกี่ประเภท อะไรบ้าง พร้อมยกตัวอย่างคำ

                        -      คำประสมที่สร้างขึ้นมีความหมายในลักษณะใดบ้าง พร้อมยกตัวอย่างคำ

                        ครูอธิบายเพิ่มเติมและให้นักเรียนบันทึกสาระสำคัญ


         ๕. ให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ ๕ - ๖ คน แข่งขันสร้างคำประสมโดยใช้คำที่กำหนดภายในเวลา         ที่กำหนด เช่น รอบละ ๑ นาที ให้นักเรียนเขียนคำที่คิดได้ลงในกระดาษที่ครูแจกเมื่อหมดเวลา ทุกคนต้องวางปากกา หากสมาชิกของกลุ่มใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับแพ้ในรอบนั้นทันที จากนั้นทุกกลุ่มจะส่งตัวแทนออกมาหน้าชั้นเรียนเพื่ออ่านคำที่คิดได้ให้เพื่อนฟัง แล้วร่วมกันพิจารณาว่าเป็นคำประสมหรือไม่ คำที่ถูกต้องจะได้คำละ ๑ คะแนน ครูบันทึกคำประสมของนักเรียนที่ไม่ซ้ำกันไว้บนกระดาน รวมคะแนนของแต่ละกลุ่มในรอบนั้น แล้วเริ่มการแข่งขันรอบต่อไป

                        คำตั้งต้นที่ใช้สำหรับการแข่งขัน เช่น

                        ลูก                   ลูกเสือ         ลูกช้าง         ลูกน้อง         ลูกทุ่ง               ลูกมือ          ฯลฯ

                        ใจ                    เบาใจ           อ่อนใจ         ใจเย็น           กินใจ               น้ำใจ            ฯลฯ

                        ปาก                ปากแข็ง      ปากจัด         ปากน้ำ          ปากหวาน       ปิดปาก        ฯลฯ

                        หัว                  เล่นหัว        หัวหน้า       หัวสูง            หัวปี                 หัวป่า           ฯลฯ

                        เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน ทุกกลุ่มรวมคะแนน ครูชมเชยกลุ่มที่ได้คะแนนมากที่สุดตามลำดับ

         ๖. ให้นักเรียนอ่านคำประสมบนกระดานที่ครูบันทึกไว้อีกครั้ง แล้วช่วยกันอธิบายความหมายของคำประสมที่ยังไม่ทราบความหมาย ครูช่วยอธิบายเพิ่มเติม

         ๗. ให้นักเรียนและครูร่วมกันสรุปความรู้เรื่องคำประสม คือ คำประสมเกิดจากการนำคำมูลที่มีความหมายต่างกันตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมารวมกันแล้วเกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ หรือยังคงมีเค้าความหมายของคำเดิม การสร้างคำประสมทำให้ภาษาไทยมีคำใช้เพิ่มมากขึ้น

สื่อการเรียนรู้/แหล่งการเรียนรู้

         ๑. บัตรคำ

         ๒. กระดาษสำหรับทำกิจกรรม

การวัดและประเมินผล

   วัดและประเมินผล

          ๑. ตรวจผลงานนักเรียน

          ๒. สังเกตจากการปฏิบัติงานกลุ่ม

   เครื่องมือวัดและประเมินผล

          ๑. ผลงานนักเรียน

          ๒. แบบสังเกตการปฏิบัติงานกลุ่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น